เนื่องในโอกาสเดือนแห่งวันแม่ ผมขอส่งบทความที่เขียนขึ้นเพื่อเทิดทูนพระคุณของแม่ ตอนนี้เป็นเรื่องของแม่ในระยะหลังคลอดลูก ที่สื่อให้เห็นว่าแม่ต้องลำบากมากเพียงใดในการเลี้ยงลูก
แม่…..ผู้ให้กำเนิดชีวิต (ตอนที่3)
นพ.พิษณุ ขันติพงษ์
หลังจากคลอดลูกแล้วไม่ว่าจะเป็นการคลอดทางช่องคลอดหรือผ่าตัดคลอด แม่จะพยายามเลี้ยงลูกน้อยด้วยตัวเองแม้ว่าจะยังคงเหนื่อยจากการคลอดหรือเจ็บแผลสักเพียงใดก็ตาม แม่ทุกคนจะได้รับการสอนในระยะตั้งครรภ์ให้รู้ว่านมแม่นั้นมีคุณค่าที่สุด แม่จะดูแลหัวนมให้พร้อมที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทุกคนรู้ว่าจะต้องให้ลูกดูดนมให้เร็วที่สุด แต่ละคนจึงพยายามให้นมลูกตั้งแต่หลังคลอด รพ.ของรัฐจะถือเป็นแนวปฏิบัติในการนำลูกมาให้แม่เลี้ยงภายใน2ชั่วโมงหลังคลอด(ไม่ว่าจะคลอดทางช่องคลอดหรือผ่าตัดคลอด) แม่แต่ละคนยอมเจ็บปวดเพื่ออุ้มลูกให้สามารถดูดนมได้ บางคนเจ็บแผลฝีเย็บหรือแผลผ่าตัดมากอาจอยู่ในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนหรือนอนให้ลูกดูด แม่ที่เลี้ยงลูกเป็นครั้งแรกจะรู้สึกเจ็บปวดเวลาลูกดูดนมใหม่ๆ จนท.จะพยายามสอนให้การดูดเป็นไปอย่างถูกวิธีแม่มือใหม่อาจดูเก้ๆกังๆไปบ้างแต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกน้อยจึงยอมทำทุกอย่างเพื่อให้มีน้ำนมสำหรับลูกโดยส่วนใหญ่แล้วพ่อจะมีบทบาทในการช่วยได้มากทั้งการจัดท่าและที่สำคัญการแสดงความรักความเห็นใจเป็นกำลังใจที่สำคัญ
ในช่วงสัปดาห์แรกของการมีสมาชิกใหม่นั้นทั้งพ่อและแม่จำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวอย่างมากเนื่องจากชีวิตใหม่ตัวน้อยนี้มีความอ่อนไหวมาก เขายิ่งต้องปรับตัวอย่างมากมายเนื่องจากขณะที่อยู่ในมดลูกนั่นมีเกาะป้องกันตัวจากแม่มากมาย น้ำคร่ำที่คอยดูดซับแสงเสียงจากภายนอกไม่ให้เกิดอันตราย อุณหภูมิที่ค่อนข้างจะคงที่ตลอดเวลาเพื่อให้การทำงานของอวัยวะต่างๆเป็นไปได้ดีที่สุด เมื่ออยู่ภายนอกมดลูกสิ่งเร้าต่างๆจึงส่งผลกระทบได้โดยตรง ทำให้ลูกน้อยส่งเสียงร้องบ่อยเป็นเหตุให้พ่อแม่เกิดความกังวล ยิ่งปัจจุบันจากการศึกษาพบว่าควรให้ลูกดูดนมแม่อย่างเดียว6เดือนโดยไม่แนะนำให้ดูดน้ำเลยเพราะในนมแม่มีส่วนประกอบของน้ำอยู่แล้ว ถ้าให้ดูดน้ำจะทำให้ได้รับนมแม่น้อยลง แม่บางคนน้ำนมยังมาน้อยเป็นเหตุให้เด็กได้น้ำไม่เพียงพอทำให้เกิดภาวะตัวเหลืองแรกเกิดซึ่งถ้าเป็นน้อยๆก็ไม่เป็นไรแต่ถ้าระดับความเหลืองมีมากอาจมีผลกระทบต่อสมองได้ ในช่วงแรกของชีวิตจึงจำเป็นต้องมีการติดตามดูแลทั้งแม่และลูกอย่างใกล้ชิด โครงการเยี่ยมบ้านของสาธารณสุขจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้มีการพัฒนาการสมวัยล้วนขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของทีมเยี่ยมบ้านเป็นอย่างมาก เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นแพทย์ เจ้าหน้าที่เวชกรรมสังคม ทีมรพ.ชุมชน รพสต. จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนมแม่เป็นอย่างดี มีการทำงานด้วยความมุ่งมั่นว่ากำลังทำงานที่สำคัญเพราะเป็นการสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้กับชีวิตใหม่ สร้างสายสัมพันธ์ให้ทุกคนในครอบครัว จะต้องมีการประสานงานกันตลอดเวลาจึงจะสำเร็จได้ ไม่ใช่เพียงแค่โทรศัพท์ซักถามเพื่อการเก็บข้อมูล อาจได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเช่นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว ถ้าติดตามทางโทรศัพท์จะได้จำนวนสูงกว่าการออกเยี่ยมบ้านมาก เพราะจะพบเห็นขวดนมและนมผงที่บ้านชัดเจนทั้งๆที่บอกทางโทรศัพท์ว่าให้นมแม่อย่างเดียว100%
ในฐานะสูติแพทย์ผมดีใจมากที่สถานประกอบการ โรงงานหลายๆแห่งเห็นความสำคัญของนมแม่จัดสถานที่สำหรับเก็บน้ำนมให้แม่ที่มาทำงานแล้วสามารถเก็บน้ำนมใส่ถุงหรือขวดพร้อมเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อนำกลับบ้านหลังเลิกงาน จะทำให้น้ำนมแม่ไม่แห้งและลูกได้รับน้ำนมแม่แม้ว่าแม่จะไปทำงานแล้ว ผมยังจำได้ว่ามีนักวิชาการสธ.ท่านหนึ่งมีความตั้งใจที่จะให้ลูกได้นมแม่ให้นานที่สุด หลังจากลาคลอดครบ3เดือนแล้วเมื่อไปทำงานจะหิ้วกล่องโฟมสำหรับเก็บน้ำนมติดตัวตลอด บางครั้งไปประชุมต่างจังหวัดหลายวัน สามารถเก็บนมแม่ใส่ถุงเก็บน้ำนมได้เป็นร้อยถุง ตลอดเวลาที่อยู่ต่างจังหวัดลูกได้รับนมแม่ซึ่งเก็บไว้ในตู้เย็นที่บ้านโดยไม่ต้องใช้นมผงเลย ผมทราบว่าได้เลี้ยงนมแม่อย่างเดียว100%จนครบ6เดือนและยังคงได้รับนมแม่จนอายุเกิน2ขวบ เป็นความภูมิใจของแม่อย่างที่สุดและลูกจะยิ่งซาบซึ้งใจเมื่อโตมาได้รับรู้ว่าแม่มีความพยายามและลำบากเพียงใดในการสร้างสิ่งดีงามนี้เพื่อลูก ผมเชื่อมั่นว่าลูกที่ได้รับนมแม่ตามคำแนะนำจะมีการเจริญเติบโตที่ดี มีการพัฒนาการสมวัย มีจิตใจที่ดีงามและสำคัญที่สุดจะเป็นคนดีต่อไปเพราะได้ซึมซับสิ่งดีงามนี้ตั้งแต่เด็ก
อย่างไรก็ตามมีแม่จำนวนมากที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง ต้องนำไปฝากให้คนอื่นช่วยเลี้ยงแทน โดยเฉพาะกรณีแม่วัยรุ่น ที่ต้องกลับไปเรียนต่อ ต้องฝากลูกไว้กับพ่อแม่หรือบ้านพักเด็ก แม่วัยรุ่นบางคนมีความผูกพันกับลูกมากพยายามให้นมแม่เท่าที่จะให้ได้ วันหยุดก็จะไปเยี่ยมดูแลลูกเมื่อเรียนจบมีงานทำแล้วจึงขอรับมาเลี้ยงเอง แสดงถึงความรักที่ยิ่งใหญ่ของแม่ที่มีต่อลูก
แม่บางคนโชคร้ายที่ลูกมีโรคประจำตั้งแต่เกิด บางคนถึงกับลาออกจากงานเพื่อเลี้ยงดูลูกเอง ผมเคยมีประสบการณ์เมื่อหลายปีก่อนครั้งที่แม่ชีศันสนีย์มาเยี่ยมรพ. ท่านบอกว่าอยากไปเยี่ยมเด็กที่ป่วยหนัก ผมจำได้ว่าพาท่านไปเยี่ยมเด็กคนหนึ่งที่ICUเด็ก ป่วยเป็นโรคพังผืดรัดปอดตั้งแต่เกิด รักษาไม่ได้เนื่องจากมีพังผืดรัดเนื้อปอดมาก เด็กจะมีอาการแย่ลงเมื่อโตขึ้นเพราะปอดขยายไม่ได้ ทำให้ขาดออกซิเจนโดยเฉพาะเวลาร้องไห้ ดูดนมหรือเคลื่อนไหวร่างกาย ขณะนั้นอายุได้ราวขวบกว่า เข้าออกรพ.เป็นประจำ แม่ต้องลาออกจากบริษัทเพื่อดูแลลูก แพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกคนรู้จักแม่ดีเพราะเฝ้าดูแลลูกตลอดเวลา ครั้งนี้อยู่ICUมานานร่วม2สัปดาห์แล้ว ยังต้องอยู่ในตู้อบและให้ออกซิเจนช่วย มีคุณแม่อายุราว28ปีนั่งดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด แม่ชีเช็ดมือด้วยแอลกอฮอลก่อนที่จะสัมผัสเด็ก โดยที่ผมไม่ได้บอกแสดงว่าท่านเข้าใจดีว่าเด็กเหล่านี้มีโอกาสติดเชื้อง่าย โดยเฉพาะเชื้อในรพ.ส่วนใหญ่เป็นเชื้อดื้อยา รักษายากเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้(พวกเราจึงควรล้างมือให้เป็นนิสัยก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วยเสมอ) เเม่ชีใช้มือสัมผัสบริเวณทรวงอกของเด็กแล้วหันมาบอกผมว่ามีเสมหะมาก พร้อมกับพูดกับเด็กว่า “ลูกเอย ลูกเกิดมาไม่เหมือนคนอื่น มีโรคประจำตัวที่รักษาไม่ได้ ขอให้ลูกอยู่เท่าที่อยู่ได้ แต่แม่อยากให้รู้ว่ามีคนคนหนึ่งที่รักและห่วงใยลูกอย่างที่สุด (แม่ชีเอามือของแม่เด็กสัมผัสที่ต้นขาลูก) คนนี้นะลูก คอยดูแลลูกอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าลูกจะหลับหรือตื่น”
แม่ชีพูดเพียงแค่นี้ แม่เด็กร้องไห้สะอึกสะอื้น แม่ชีบอกกับผมว่าอยากคุยกับแม่เด็ก ผมจึงจัดห้องให้มีความเป็นส่วนตัว เชิญกุมารแพทย์และพยาบาลมาฟังด้วย แม่ชีถามคุณแม่ว่า”คุณแม่กำลังเสียใจใช่ไหมที่ลูกไม่สบายต้องเข้านอนรพ.บ่อยๆ”แม่พยักหน้า “คุณแม่เสียใจมากที่ลูกรักษาไม่ได้ใช่ไหม”คุณแม่พยักหน้าอีก “สามีของคุณแม่เป็นคนจีนใช่ไหม”แม่พยักหน้าอีก “เวลานี้ครอบครัวสามีต่างก็โทษว่าคุณแม่เป็นต้นเหตุให้ลูกเป็นเช่นนี้ใช่หรือเปล่า”ถึงตอนนี้คุณแม่ร้องไห้โฮเลย ผมยังประหลาดใจจนทุกวันนี้ว่าแม่ชีรู้ได้อย่างไร แม่ชีบอกกับผมว่าพวกเรามักจะรักษาดูแลแต่ผู้ป่วย โดยลืมที่จะดูแลคนข้างเคียง ทั้งๆที่คนเหล่านี้ต้องการความรักความเห็นใจและการดูแลจากพวกเราอย่างที่สุด
ไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้ไปบรรยายให้เจ้าหน้าที่รพ.เทพรัตน์เวชชานุกูล(รพ.แม่แจ่มเดิม)เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานและสร้างความสามัคคี การทำงานด้วยหัวใจ ตอนเช้าผมได้ไปเดินในหอผู้ป่วย พบว่ามีเด็กคนหนึ่งอายุ2ขวบแล้วแต่ไม่เคยได้กลับบ้านเลยตั้งแต่เกิด เพราะป่วยด้วยโรคพันธุกรรม มีโรคหัวใจแต่กำเนิดร่วมด้วย ได้รับการผ่าตัดรักษาจากรพ.มหาราชเชียงใหม่ แต่ยังจำเป็นต้องดูแลใกล้ชิด มีเสมหะมากต้องใช้เครื่องดูดเสมหะและให้ออกซิเจนบ่อยๆ พ่อแม่เป็นชาวม้งมีอาชีพทำไร่ แม่อยู่เฝ้าลูกตลอด2ปีไม่ได้ห่างเลย ผมพบว่าแม่เด็กสามารถช่วยเหลือเด็กได้ทุกอย่างเหมือนเป็นพยาบาลคนหนึ่งทีเดียว ผอ.ได้บอกกับผมว่ากำลังเตรียมการเพื่อส่งเด็กกลับไปอยู่บ้านภายในเร็วนี้ มีการประสานงานกับรพสต. อสม.และอปท. เตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นไม่ว่าจะเป็นออกซิเจน เครื่องดูดเสมหะเป็นต้น ผมได้เห็นคุณแม่ใช้เครื่องดูดเสมหะกับลูกได้คล่องแคล่ว ตามหลักวิชาเพื่อป้องกันการติดเชื้อในรพ. ผมบอกกับทุกคนว่าคุณแม่ดูแลลูกด้วยหัวใจ ด้วยความรักความปรารถนา จึงทำทุกอย่างด้วยความเต็มใจ มีความหวังอยู่เสมอว่าลูกจะหายเหมือนคนปกติได้ในอนาคต
บทความที่ผมเขียนเกี่ยวกับแม่ทั้งสามตอนนี้ก็เพื่อต้องการให้ลูกๆทุกคนได้รับทราบถึงความรักที่ยิ่งใหญ่ของแม่ที่มีต่อลูก ความรักที่ไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ แม่จะยังคงรักและห่วงใยลูกตลอดไปแม้ว่าลูกจะเติบโตมีครอบครัวแล้วก็ตาม ลูกรักและห่วงใยแม่บ้างหรือเปล่า อย่าปล่อยให้แม่เฝ้ารอพบหน้าเพียงปีละครั้งในวันแม่ ผมเชื่อว่าแม่ไม่ได้ต้องการเงินทองที่ลูกๆส่งให้เท่าใดนัก แต่ต้องการทราบข่าวคราวให้รู้ว่าสบายดีก็พอใจแล้ว
ขอขอบคุณพวกเราทุกคนที่ให้การดูแลทั้งแม่และลูกอย่างเต็มความสามารถ ด้วยความระมัดระวังและด้วยความปรารถนาดี ให้คิดเสมอว่าแม่ของเราก็เคยผ่านวิกฤติเช่นนี้มาก่อน ขอให้ดูแลทุกคนด้วยหัวใจเพื่อตอบแทนพระคุณแม่ของเราด้วยครับ
“ขอบคุณที่เป็นคนดี”