เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า หนังสือพิมพ์ “เชียงรายนิวส์”
ในนามคณะกองบรรณาธิการ (22 เมษายน 2562)
โหยหา.. “ป่าเปียก”
ห้วงเวลาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน อาจจะไปถึง พฤษภาคม ในเขตภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน ต่างประสบปัญหาเรื่องภัยพิบัติ จาก “หมอกควัน” ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) PM 2.5 และ PM 10 อยู่ในขั้นวิกฤติเป็นอันตรายต่อสุขภาพ สร้างความเสียหายหลายๆด้านสุดพรรณนา โดยเฉพาะเรื่อง “สุขภาพของประชาชน” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด…
เป็นที่น่ายินดีและชื่นชมกับความเสียสละของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนใน “เชียงราย” ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ม.ราชภัฏเชียงราย ม.แม่ฟ้าหลวง และ ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย รวมทั้งกลุ่ม Chiang Rai Fights Smog และอาจารย์จากโปรแกรม GIS สำนักวิชาสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏเชียงราย ต่างก็ มุ่งมั่นตั้งใจจริงๆที่ได้ช่วยกันขจัด “ไฟป่า-หมอกควัน” ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันโดยไม่ระย่อต่อปัญหาที่เกิดขึ้น…ทั้งมีแผนระยะสั้นระยะยาวในการทำงานไปสู่ระดับการร่วมมือระดับอาเซียนกันเลยทีเดียว…. โดยมี คุณเตือนใจ ดีเทศน์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) (อดีตสว.เชียงราย) ร่วมวงด้วย จะเห็นว่าทุกภาคที่ต่างร่วมแรงร่วมใจกันสุดกำลังในการแก้ปัญหาเฉพะหน้า ด้วยวิธีการและสารพัดกิจกรรม แม้แต่การโหยหา…ฝนฟ้า..(พายุอ่อนๆ) เมื่อใดจะมาโปรด !!.. ช่วยขับไล่ไอ้ตัวร้าย “ไฟป่า-หมอกควัน” ให้หายไป เสียทีในปีนี้… (คงต้องรออีกสักระยะเพราะธรรมชาติจะรักษาดุลของมันเองเสมอ…แต่อาจนานเกินรอหรือไม่..เราก็ต้องปรับตัวไว้ก่อน)…
ภาคเหนือเป็นภาคที่มีป่าไม้และเทือกเขาและแหล่งน้ำมากที่สุด การเกิดไฟป่าและหมอกควันในหน้าแล้งจึงเป็นของคู่กันมายาวนาน เพียงแต่ว่าระยะสั้น-ยาว ต่างกันตามสภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละแห่งที่มีลักษณะเป็น Micro Climate ต่างกัน การแก้ปัญหา “ไฟป่าและหมอกควัน” ให้ยั่งยืนนั้นก็มีหลายวิธีซึ่งต้องใช้เวลาโดยต้องเริ่มจาก “จิตสำนึก” ของมนุษย์ และต้องดับ ”ไฟในใจ” ไฟแห่ง ”ความโลภ” ออกไปเสียก่อนจึงจะได้ผลที่ต้องเริ่มจากมนุษย์เรานี่แหละเป็นสำคัญ….
จากเหตุการณ์ดังที่กล่าว ทำให้นึกถึง “ศาสตร์พระราชา” ที่หอปรัชญา รัชกาลที่ 9 ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ที่มีศาสตร์หลายๆแขนงให้ศึกษารวมทั้งเรื่องรวมทั้งด้านสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ที่เกี่ยวกับ น้ำ ดิน ป่าไม้ ด้วย พระราชดำริ เรื่อง “ป่าเปียก” ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงพระราชทานวิธีการก่อสร้าง “ป่าเปียก” เพื่อป้องกันไฟป่าที่เรียกว่า (Wet Fire Break) เอาไว้ให้ประชาชนได้ทำตามพระราชดำริ โดยธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมจะเกื้อกูลกันเอง ทั้งนี้ ศาสตร์ดังกล่าวมีเผยแพร่ทั่วไปทุกคนเข้าถึงและส่วนราชการและชุมชนสามารถนำไปร่วมมือกันทำได้ มี 6 วิธีด้วยกันได้แก่
วิธีที่ 1 ทำระบบป้องกันไฟไหม้ป่าโดยใช้แนวคลองส่งน้ำและแนวพืชชนิดต่างๆ ปลูกไว้ตามแนวคลอง
วิธีที่ 2 สร้างระบบการควบคุมไฟป่าด้วยป่าเปียกโดยอาศัยน้ำชลประทานและน้ำฝน
วิธีที่ 3 ปลูกต้นไม้โตเร็วคลุมแนวร่องน้ำ เพื่อให้ความชุ่มชื้นค่อยๆทวีขึ้น และแผ่ขยายออกไปทั้งสองร่องน้ำซึ่งจะทำให้ ต้นไม้เติบโตและช่วยป้องกันไฟป่าเพราะไฟป่าจะเกิดขึ้นหากป่าขาดความชุ่มชื้น
วิธีที่ 4 สร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น ที่เรียกว่า Check Dam เพื่อปิดกั้นร่องน้ำหรือลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่เก็บไว้จะซึมเข้าไปสะสมในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายเข้าไปทั้งสองด้านจนกลายเป็น “ป่าเปียก”
วิธีที่ 5 สูบน้ำขึ้นที่สูงแล้วปล่อยให้ไหลลงมาทีละน้อย ช่วยเสริมการปลูกป่าบนพื้นที่สูงในรูป ภูเขาป่า ให้กลายเป็น ป่าเปียก ช่วยป้องกันไฟป่าได้
วิธีที่ 6 ปลูกต้นกล้วย สามารถอุ้มน้ำไว้ได้มากกว่าพืชชนิดอื่น ในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นช่องว่างของป่า กว้าง 2 เมตร เพื่อเป็นแนวปะทะกับไฟป่า (ที่มา : https://library.stou.ac.th/odi/kor-kon/love-forest/page01-2.html)
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้สมควรที่จะเป็น “นโยบายเชิงยุทธศาสตร์” และเป็น “วาระ” ของจังหวัดและองค์การปกครองท้องถิ่นในเขตพื้นที่ต่างๆในเขตภาคเหนือและหรือพื้นที่ต่างๆรวมทั้งระดับประเทศด้วย เพราะเริ่มมี “ผลกระทบกันเกือบทุกภาค” ในประเทศแล้ว โดยต้องจัดสรรงบประมาณมาช่วยและควรเป็นงบฯต่อเนื่องทุกปีมากเท่าไหร่ก็ต้องลงทุน…เพราะเพื่อชีวิตมนุษย์และเศรษฐกิจท้องถิ่น รวมทั้ง “หลักสูตรการเรียนการสอน” ในทุกระดับการศึกษาควรมีไว้สร้างความตระหนักให้เข้มข้นกว่าเดิมเพราะในอนาคตเราจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติต่างๆมากขึ้นยากที่จะหลีกเลี่ยง ทั้งนี้เพื่อป้องกันและยังเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติช่วยแก้ปัญหา “โลกร้อน” อีกทางหนึ่ง รวมทั้งการเรียกร้องความชุ่มชื้นของป่าให้มีการซับน้ำและคายน้ำในแต่ละวัน…ก็จะเป็นตัวส่งสัญญาณดั่งบทสวด..อ้อนวอนเทวดา…(ฮา.!) ให้ฝนฟ้ามาตกในป่าและเทือกเขาและป่านั้นๆด้วย… “ปัญหาไฟป่า..หมอกควัน” (พิษ)ในแต่ละปีก็คงจะหมดสิ้นไปในอนาคต…ต้องลงมือตั้งแต่วันนี้..!!
สุรพล เวียงนนท์